เมนูกุ้งแปลว่า… Prawn หรือ Shrimp ดีน่ะ!

แปลเมนูสำคัญอย่างไร

การแปลเมนูของทางร้านอาหารมีผลต่อการสร้างยอดขายที่เพิ่มขึ้น เพราะการที่แปลถูกความหมายจะทำให้ลูกค้าชาวต่างชาตินั้นเข้าใจและพอใจในการที่จะมาใช้บริการซ้ำ แต่ถ้าหากมีการแปลไม่ตรง เกิดความเข้าใจผิดก็ทำให้ลูกค้าชาวต่างชาติรู้สึกสับสน จนอาจไม่มาใช้บริการร้านอาหารซ้ำอีกเลย

จากประสบการณ์ของผมที่ได้เจอมา มีบางร้านที่แปลเมนูเป็นภาษาอังกฤษด้วยการใช้คำว่า Shrimp อย่างเดียว แต่ก็มีบางร้านที่ใช้คำว่า Prawn อย่างเดียวด้วยเช่นกัน และสิ่งที่น่าสับสนคือ บางร้านใช้ทั้งคำว่า Shrimp และ Prawn ผสมกัน แล้วคำแบบไหนจะเป็นคำแปลเมนูกุ้งที่ถูกและเหมาะสมล่ะครับ

ผมจึงไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมมา แล้วพบว่า คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงและใช้คำว่า Shrimp ซะมากกว่า แต่จริงๆ แล้ว คำว่า Prawn ก็แปลว่ากุ้งได้อีกเหมือนกัน ถ้าอย่างนั้นเรามาดูกันดีกว่าครับว่า เราจะใช้คำไหนดีในการแปลกุ้ง ระหว่างคำว่า Shrimp หรือ Prawn

โดยคำว่า “กุ้ง” ตามธรรมชาตินั้นมีอยู่หลายชนิด แต่ที่เลือกมาทำเป็นอาหารส่วนใหญ่ จะเป็นกุ้งจำพวก กุ้งขาว กุ้งแช่บ๊วย กุ้งลายเสือ ตลอดจนกุ้งแม้น้ำ กุ้งก้ามกลาม หรือกุ้งกุลาดำ เป็นต้น รวมถึง กุ้งตัวใหญ่ๆ ที่ใช้ชื่อแปลกๆ อย่างกุ้งแคเนเดียนล็อบสเตอร์ หรือกุ้งมังกร 7 สี อีกด้วยดังนั้น ด้วยการใช้ชื่อกุ้งที่ไม่เหมือนกันนี้ ทำให้การแปลเมนูกุ้งมีความแตกต่างกันอยู่บ้างครับ

อ้างอิงจากแหล่ง : www.midenglishofficial.com/article/misunderstoodwords/

เมนูกุ้งแบบไหนที่ใช้คำว่า Shrimp

คำว่า “Shrimp” (รูปซ้าย) ในภาษาอังกฤษ จะใช้เรียกกุ้งที่มีขาคู่ 2 คู่ ลักษณะเหมือนกงเล็บ บริเวณลำตัวจะเป็นก้ามเล็กๆ เปลือกซ้อนทับกัน และมักจะใช้เรียกกุ้งตัวเล็กไปจนถึงกุ้งตัวใหญ่

โดยเมนูกุ้งที่เจ้าของร้านนิยมนำมาทำเป็นอาหาร จะใช้ กุ้งขาว กุ้งแช่บ๊วย และกุ้งกุลาดำ นอกจากนี้ยังมีกุ้งชื่ออื่นๆ ที่มีลักษณะเดียวกัน เช่น กุ้งเชอร์รี่ เราก็จะแปลเป็นภาษาอังกฤษด้วยคำว่า Shrimp เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น 

  • กุ้งขาวผัดเปรี้ยวหวาน แปลว่า Stir-fried Pacific Shrimp with Sweet and Sour Sauce
  • กุ้งแชบ๊วยผัดเม็ดมะม่วงหิมพานต์ แปลว่า Stir-fried Banana Shrimp with Cashew Nut
  • กุ้งกุลาดำทอดกระเทียม แปลว่า Deep Fried Shrimp with Garlic

กุ้งประเภทไหนใช้ Prawn แปลเมนู

ส่วนคำว่า “Prawn” (รูปขวา)ในภาษาอังกฤษจะใช้เรียกกุ้งที่มีขา 3 คู่ ขนาดใหญ่กว่ากุ้งทั่วไป บริเวณลำตัวจะเป็นปล้องใหญ่ มีเปลือกซ้อนทับกันอย่างเป็นระเบียบ และคำว่า Prawn มักจะใช้เรียกกุ้งจำพวก กุ้งแม่น้ำ กุ้งลายเสือ และ กุ้งก้ามกราม เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้คนอาจสับสนระหว่างกุ้งแม่น้ำและกุ้งกลามอยู่บ้าง เนื่องจาก ทั้งคู่เป็นสายพันธ์ุเดียวกัน ทำให้ลักษณะลำตัวไม่ได้มีความแตกต่าง จะมีเพียงแหล่งที่มาเท่านั้นที่จะทำให้แยกกุ้งทั้งสองชนิดนี้ได้

โดยแหล่งที่มาของ กุ้งแม่น้ำ มาจากลำคลองตามธรรมชาติ ที่จับได้จากการวางสุ่ม ลักษณะลำตัวจะค่อนข้างใหญ่และยาว หัวโต และมีเนื้อที่แน่น ทำให้ราคาในตลาดค่อนข้างสูง ในขณะที่กุ้งก้ามกรามเป็นกุ้งที่มาจากการเพาะเลี้ยงในบ่อน้ำจืดด้วยอาหารกุ้ง ทำให้ลักษณะลำตัวและหัวจะไม่ใหญ่ และเนื้อแน่นเท่ากับกุ้งแม่น้ำ ดังนั้น มองดูเผลิน ๆ อาจจะแยกไม่ออก แต่ทั้งคู่ใช้ Prawn ในการแปลนะครับ ยกตัวอย่างเช่น 

  • กุ้งลายเสือเผา แปลว่า Grilled King Prawn
  • กุ้งแม่น้ำเผา แปลว่า Grilled River Prawn
  • กุ้งก้ามกรามอบวุ้นเส้น แปลว่า Baked Prawn with Glass Noodles

แต่ในบางกรณี อย่างกุ้งกล้ามกรามสีแดง เรามักจะใช้คำว่า Rainbow Lobster นะครับ เพราะเป็นคำที่พอพูดถึงก็จะนึกออกและไม่สับสนเท่ากับการแปลตรงตัวว่า Red Prawn ดังนั้น เพื่อความเข้าใจ และสร้างความสวยงามให้กับการแปลเมนู การเลือกใช้คำว่า Rainbow Lobster ก็ดูน่าสนใจอยู่ไม่น้อย จริงมั้ยล่ะครับ 

สองรูปข้างต้นนี้เป็นตัวอย่างในร้านอาหารแห่งหนึ่งที่ผมเจอ ทางร้านมีการแปลเมนูกุ้งด้วยคำว่า Prawn และ Lobster ผสมกัน แล้วทีนี้ เราจะรู้ได้อย่างไรล่ะครับ ว่าจะแปลกุ้งเป็นภาษาอังกฤษคำว่าอะไรดี 

Lobster แปลเมนูกุ้งได้เป็นอะไรบ้าง

นอกจากคำที่แปลว่ากุ้งที่เราเข้าใจว่ามี Shrimp กับ Prawn มันยังมีอีกคำหนึ่งคือ Lobster เราจะแปลว่ากุ้งมังกร โดยกุ้งมังกรจะมีหลากหลาย ซึ่งคนส่วนใหญ่นิยมนำมาทำอาหารหลักๆ นั้นมีด้วยกัน 3 สายพันธุ์

สายพันธุ์แรกคือ กุ้งล็อบสเตอร์แดนาเดียน แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “Canadian Lobster” เป็นกุ้งนำเข้ามาจากต่างประเทศ ฝรั่งเศสนิยมมาทำอาหาร

สายพันธุ์ที่สอง สุดยอดกุ้งของเมืองไทยเลยนั้นคือ กุ้งมังกร 7 สี เราก็จะแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “Painted Spiny Lobster” เป็นกุ้งที่มีราคาสูง เนื้อแน่น ตัวใหญ่

และสายพันธุ์สุดท้ายคือ กุ้งเรนโบว์หรือกุ้งก้ามกรามแดง หรือจะเรียกกันว่า “Rainbow Lobster” ตัวนี้ไม่ได้แปลว่ากุ้งมังกรนะครับ มันคือกุ้งเรนโบว์หรือกุ้งก้ามกรามแดงที่นิยมในอาหารญี่ปุ่น เช่น

  • กุ้งล็อบเตอร์เนยกระเทียม แปลว่า Crispy-Fried Lobster with Garlic Butter
  • กุ้งมังกรทอดกระเทียมพริกไทยดำ แปลว่า Crispy-Fried Painted Spiny Lobster with Garlic and Black Pepper
  • กุ้งก้ามกรามอบวุ้นเส้น แปลว่า Baked Lobster Vermicelli

แปลเมนูกุ้งแบบนี้ดีที่สุด จริงหรือ?

หลังจากที่เราได้รู้จักการแปลเมนูกุ้งด้วยคำว่า Shrimp, Prawn และ Lobster กันไปแล้ว ก็พอที่จะแปลเมนูให้ถูกต้องและเหมาะสมกับลักษณะของกุ้งได้ ซึ่งจะส่งผลให้ชาวต่างชาติเกิดความเข้าใจที่ตรงกัน และป้องกันการสับสนของเมนูอาหาร แต่ทั้งนี้ เราจะต้องดูบริบทรอบข้างด้วยว่า เราควรจำใช้คำไหนในการแปล เพราะประเทศไทย มีชาวต่างชาติที่มาจากทั่วโลก การรับรู้ในเรื่องของภาษานั้นก็อาจแตกต่างกัน ดังนั้น ถ้าเราสามารถแปลเป็นคำที่รับรู้กันโดยทั่วไป เป็นคำกลาง ๆ ก็น่าจะเหมาะสมดี 

แต่ถ้าหากเรานำเล่มเมนูไปใช้ในต่างประเทศ การแปลเมนูให้เหมาะสมกับพื้นที่อาจจะเป็นทางคำแนะนำที่ดีกว่า โดยให้ลองศึกษาดูว่า ประเทศนนั้น ๆ ใช้คำภาษาอังกฤษใดแปลคำว่า “กุ้ง” เป็นหลัก  ให้เราเลือกใช้คำนั้นในการแปลเมนู 

และผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ประสบการณ์ที่ผมนำมาเล่า จะเป็นประโยชน์กับร้านอาหารที่ต้องการแปลเมนูนะครับ ถ้าเกิดคุณกำลังมองหาลิสต์การแปลเมนูกุ้ง ผมได้รวบรวมมาให้ สามารถกดดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ลิงก์นี้เลยครับ 

Posted in เกร็ดน่ารู้ แปลเมนู.